เรื่องราวว่าด้วย "นักเรียนนายร้อยตำรวจ" กับคำว่า "รุ่น" และ "พราน 44"
เคยไปบรรยายพิเศษเกี่ยวกับเรื่องตำรวจให้นักศึกษา ป.โท สาขาวิชาการบริหารงานยุติธรรม คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า ฟัง ตามสั่งการของท่านรองอธิการบดี นิด้า ผศ.พ.ต.ท.ดร.เกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์ เพื่อนร่วมสถาบันโรงเรียนนายร้อยตำรวจ (รร.นรต.) ซึ่งเปลี่ยนเส้นทางชีวิตไปเป็นครูบาอาจารย์อย่างเต็มตัว ก่อนเริ่มบรรยาย ผมให้นักศึกษาถามถึงสิ่งที่อยากรู้เกี่ยวกับตำรวจ มีนักศึกษาคนหนึ่งถามว่าตำรวจที่จบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ (รร.นรต.) มีความแตกต่างจากผู้ที่จบจากมหาวิทยาลัย อย่างไร?
คำถามนี้ เกิดขึ้นมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีกระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจ และอาจมีคำถามต่อไปว่าหากไม่มีอะไรแตกต่างกัน ก็ไม่จำเป็นต้องมีหลักสูตร นรต. ไม่ต้องมี รร.นรต.ก็ได้นี่ การผลิตตำรวจก็รับจากผู้จบจากมหาวิทยาลัย แล้วอบรมแค่ 3 เดือน ก็ทำงานได้แล้ว?
(CR ภาพจาก LINE #กองบังคับการปกครอง)
ในฐานะที่จบการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้ ได้ตอบไปว่า รร.นรต.เป็นสถาบันการศึกษาทางวิชาชีพตำรวจ ในระดับอุดมศึกษาของประเทศ สอนทั้งทางวิชาการพื้นฐานในระดับอุดมศึกษาและวิชาชีพตำรวจ เช่น การสืบสวนสอบสวน การป้องกันอาชญากรรม นิติวิทยาศาสตร์ ยุทธวิธีตำรวจ โดยมีการสอนและการฝึกทั้ง 4 ปีการศึกษา และที่สำคัญคือการปลูกฝังอุดมการณ์ของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์อย่างต่อเนื่อง
ผมย้ำว่าการอธิบายเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าคนที่จบจาก รร.นรต. จะเลิศเล่อ perfect กว่าคนจบจากมหาวิทยาลัย แต่นี้คือระบบการผลิตบุคลากรที่แตกต่างกัน สำหรับลักษณะงานของตำรวจที่แตกต่างจากอาชีพอื่น
รร.นรต. เป็นสถาบันหลักทางวิชาชีพตำรวจโดยเฉพาะที่ก่อตั้งมาพร้อมกับการก่อตั้งองค์กรตำรวจสมัยใหม่ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ในช่วงเริ่มต้น เรามีสถาบันการศึกษาฝึกอบรมที่ผลิตนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร ถึง 2 สถาบัน
-แห่งแรก จัดตั้งขึ้นหลังจากมีกรมตำรวจภูธรเมื่อ พ.ศ.2440 และจัดตั้งกองตำรวจภูธรมณฑล กระจายไปในพื้นที่ต่างๆ จึงจำเป็นต้องผลิตนายตำรวจไปบริหารงานในกองตำรวจภูธรมณฑลต่างๆ พลตรี พระยาวาสุเทพ (G. Schau) หรือหลวงศัลวิธานนิเทศ อดีตนายทหารชาวเดนมาร์กที่มารับราชการในสยาม ดำรงตำแหน่ง เจ้ากรมตำรวจภูธร ได้เสนอต่อสมเด็จกรมหลวงดำรงราชานุภาพ ให้จัดตั้ง “โรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธร” ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2444 ในจังหวัดนครราชสีมา ใช้กองตำรวจภูธรมณฑลนครราชสีมา เป็นสถานที่เรียน ตั้งอยู่ที่ประตูชัยณรงค์ คนทั่วไปเรียกว่า ประตูผี มีหลักการรับนักเรียนที่สำเร็จประโยคประถม (ขณะนั้นเทียบชั้นมัธยมปีที่ 3) เข้ารับการศึกษาอบรมเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร มุ่งหมายที่จะให้นายร้อยตำรวจได้รับการศึกษาทางฝ่ายปกครองกับวิชาการตำรวจ รวมทั้งวิชาการทหารควบกันไป นายตำรวจในครั้งนั้นโดยมากโอนมาจากกระทรวงกลาโหม ขาดความรู้ในทางวิชาการตำรวจและการปกครอง แต่นายตำรวจภูธรในสมัยนั้น ก็มีชื่อเสียงในด้านการรักษาระเบียบวินัยและความเข้มแข็งในการปฏิบัติหน้าที่ จากการควบคุมบังคับบัญชาและการฝึกฝนอย่างเข้มงวดของพระยาวาสุเทพ (กรมตำรวจ, กิจการตำรวจสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2435-2458), (กรุงเทพฯ: 2505), หน้า 9.)
-แห่งที่สอง จัดตั้งในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากกิจการตำรวจในสมัยรัชกาลที่ 5 องค์กรตำรวจที่รับผิดชอบพื้นที่กรุงเทพฯ กับในส่วนภูมิภาค ยังไม่ได้รวมเป็นหน่วยงานเดียวกัน สำหรับกิจการตำรวจในส่วนกลาง รัชกาลที่ 5 ทรงมอบหมายให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ พัฒนากิจการตำรวจในพระนคร ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ “กรมกองตระเวน” ขณะนั้น มีนายเอ.เย.ยาดิน (Mr. Arthur John Alexander Jardine) ดำรงตำแหน่งเป็น ผู้บังคับการกรมกองตระเวน (Chief Commissioner) ระหว่างปี พ.ศ.2440-2444 มิสเตอร์ยาร์ดิน มีนโยบายส่งเสริมความรู้ความสามารถทางด้านวิชาการทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติให้แก่เจ้าพนักงานกองตระเวน ซึ่งเสนอให้มีการตั้งสถาบันฝึกอบรมของตำรวจ 2 ส่วน
- ส่วนแรก เสนอให้จัดตั้ง “โรงเรียนกองตระเวน” รวมทั้งสถานที่ฝึกหัดพลตระเวนขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะฝึกหัดอบรมสั่งสอนคนที่เข้ารับราชการใหม่และเป็นสถานที่พลตระเวนเก่าจะเข้าฝึกหัดทบทวนด้านวิชาการและภาคปฏิบัติ กำหนดไว้ว่าพลตระเวนเก่าจะต้องเข้ารับการฝึกทบทวนปีละ 1 เดือน ทุกปี และต่อมาได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2440 (รสสุคนธ์ จรัสศรี, บทบาทของข้าราชการชาวต่างประเทศ ในกรมตำรวจในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์, หน้า 99.)
- ส่วนที่สอง มิสเตอร์ยาดีน เห็นประโยชน์ของโรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธร จึงได้จัดตั้งโรงเรียนนายหมวด ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ผลิตนายตำรวจ โดยใช้บริเวณบ้านพักของเจ้ากรม ที่สวนไหม ถนนราชดำริห์ เชิงสะพานไผ่สิงโต ตำบลศาลาแดง จังหวัดพระนคร ในปี พ.ศ.2452 เปิดรับนักเรียนปีละ 50 คน เรียน 6 เดือนสอบหนึ่งครั้ง ผู้ที่เข้าเป็นนักเรียนนายหมวด ใช้จากการคัดเลือกเสมียนพนักงานตามสถานีตำรวจต่างๆ ซึ่งสังกัดอยู่ในกรมกองตระเวน ไม่รับจากบุคคลภายนอก ผู้ที่ถูกคัดเลือกนั้นมิได้คำนึงว่าจะสำเร็จการศึกษาเพียงใด มุ่งคัดเลือกเอาจากผู้มีความรู้ดี การปฏิบัติงานดี ตลอดจนความประพฤติดีเป็นหลัก (กรมตำรวจ, กิจการตำรวจสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2435-2458), หน้า 11-12)
ดังนั้น สถาบันที่ผลิตนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร ในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงเกิดขึ้น 2 แห่ง ในเวลาไล่เลี่ยกัน ในเวลาต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2458 ในสมัยของรัชกาลที่ 6 ได้ทรงมีพระบรมราชโอการโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมตำรวจภูธรและกรมกองตระเวน เข้าเป็นกรมเดียวกัน เรียกชื่อกรมว่า “กรมตำรวจภูธรและกรมกองตระเวน” ภายใต้บังคับบัญชาของอธิบดีคนเดียวกัน โดยขึ้นอยู่กับกระทรวงนครบาล และโรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธร กับโรงเรียนนายหมวด ก็ได้รวมกันเป็นโรงเรียนเดียวกัน
ในช่วงเริ่มต้นของการก่อตั้งสถาบันโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ชาวต่างประเทศมีบทบาทในการถ่ายทอดองค์ความรู้ ระเบียบวิธีการปฏิบัติงาน และในประวัติศาสตร์อันยาวนาน โรงเรียนนายร้อยตำรวจ มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายครั้ง เช่นในปี พ.ศ.2477 หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่นาน ซึ่งเหตุการณ์ทางการเมืองยังไม่เรียบร้อย มีการยุบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ที่ห้วยจรเข้ จังหวัดนครปฐม โดยให้โรงเรียนนายร้อยทหารบก ผลิตนักเรียนนายร้อยทหารบกฝ่ายตำรวจขึ้นแทน มีการกล่าวถึงเหตุผลในการยุบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ในประวัติโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ว่า เป็นความเห็นของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม กับ พลตำรวจเอกหลวงอดุลย์เดชจรัส เห็นว่าประเทศไทยมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นอาณานิคมของมหาอำนาจทางตะวันตก และขณะนั้นไม่สามารถจะตั้งกรมกองทหารให้ใกล้ชิดกับเส้นพรมแดนได้ จำเป็นต้องใช้กองกำลังตำรวจ จึงควรให้ตำรวจและทหารร่วมสถาบันเดียวกัน นอกจากนี้ก็เพื่อให้ตำรวจและทหารเกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน (เว็บไซต์โรงเรียนนายร้อยตำรวจ, ประวัติโรงเรียน, http://www.rpca.ac.th/ )
อย่างไรก็ตาม การยุบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ครั้งนี้ เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์กบฏบวรเดช ในปี พ.ศ.2476 โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ได้ประกาศถวายอารักขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จแปรพระราชฐานอยู่ที่วังไกลกังวล หัวหิน (สุวรรณ สุวรรณเวโช, พลตำรวจตรี, ประวัติและวิวัฒนาการของตำรวจไทย เล่ม ๒, หน้า ๗๙-๘๐) นายพันตำรวจเอกพระยาบุเรศผดุงกิจ(รวย พรหโมบล) อธิบดีกรมตำรวจ ในขณะนั้น ก็เคยเป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยตำรวจมาก่อน และนายพันตำรวจเอกพระยะบุเรศผดุงกิจ ก็ถูกปลดจากตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ โดยรัฐบาลพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ซึ่งยึดอำนาจจากรัฐบาลชุดแรกของ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) การยุบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ โดยให้ไปเรียนรวมกับโรงเรียนนายร้อยทหารบก จึงมีเหตุผลในทางการเมืองแฝงอยู่ด้วย
การผลิตบุคลากรขององค์กรตำรวจ มีความเป็นมาอย่างยาวนาน จากสมัยโบราณที่หาคนสมัครเข้ารับราชการตำรวจได้ยาก จนต้องจ้างชาวต่างชาติเป็นแขกมลายู มาเป็นตำรวจ หรือเกณฑ์คนไทยมารับราชการ จนกระทั่งในปัจจุบัน มีผู้ต้องการเข้ามาเป็นตำรวจจำนวนมาก การสอบคัดเลือกแต่ละครั้ง มีผู้สมัครจำนวนมาก
ปัจจุบันองค์กรตำรวจ ก็มีนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรที่มาจากหลายแหล่ง ได้แก่ - นรต. - ผู้จบจากมหาวิทยาลัย - ตำรวจชั้นประทวนที่มีวุฒิ ป.ตรี สอบคัดเลือกได้ - ตำรวจชั้นประทวนที่ไม่มีวุฒิ ป.ตรี สอบคัดเลือกได้ บุคลากรแต่ละประเภท มีจุดเด่น จุดด้อยแตกต่างกัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำเป็นต้องมีการสรรหาและใช้บุคลากรที่หลากหลาย แต่ที่สำคัญคือ บุคลากรทั้งหมดมีโอกาสเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่เท่าเทียมกัน มิได้มีการเลือกปฏิบัติจากความแตกต่างของสถาบัน
(ส่วนเรื่องวิ่งเต้นเส้นสายเป็นคนละประเด็นกันนะครับ เพราะตำรวจที่จบมหาวิทยาลัยบางคนมีเส้นดีกว่า นรต.ก็มีครับ)
ผมคิดว่าการมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากหลายแหล่งที่มาโดยมี รร.นรต.เป็นสถาบันหลักในวิชาชีพตำรวจ ยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศไทยครับ
ในประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงเรา เช่น ฟิลิปินส์ อินโดนีเซีย เมียนมา เวียดนาม มีสถาบันการศึกษาที่ผลิตนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร (commissioned officer) ในหลักสูตร 4 ปี เหมือนโรงเรียนนายร้อยตำรวจ
โรงเรียนนายร้อยตำรวจฟิลิปปินส์ มีชื่อเป็นทางการว่า “โรงเรียนตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์” (PHILIPPINE NATIONAL POLICE ACADEMY) นอกจากจะผลิตนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร แล้ว ยังให้การศึกษาอบรมสำหรับเจ้าหน้าที่ดับเพลิงอีกด้วย
โรงเรียนตำรวจประชาชนเวียดนาม (People’s Police Academy)
ถือว่าเป็นสถาบันที่มีความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ดีกับโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ของไทย ปัจจุบันมีนักเรียนนายร้อยตำรวจเวียดนาม เข้ารับการศึกษาใน รร.นรต. ในทุกปี
โรงเรียนตำรวจประชาชนเวียดนาม เป็นสถาบันฝึกอบรมที่ใหญ่ที่สุดของตำรวจเวียดนาม มีการจัดการเรียน การสอน ทั้งระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี การฝึกอบรมข้าราชการตำรวจ การฝึกอบรมข้าราชการตำรวจชั้นประทวนเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร และการฝึกอบรมบุคคลภายนอก ซึ่งมีวุฒปริญญาตรี หลักสูตร 2 ปี มีการเปิดหลักสูตรปริญญาโท และปริญญาเอก
วันหยุดยาว 10-12 ธ.ค.2559 นี้ได้มางานเลี้ยงรุ่น นักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) รุ่น 44 ที่จังหวัดเลย เพื่อนๆอาจสงสัยว่าทำไมมาจัดงานเลี้ยงรุ่นไกลถึงจังหวัดเลย ในช่วงหลังเราจัดงานรุ่นกันใน ตจว. ทุกปี หมุนเวียนกันไปตามภาคต่างๆ ถือโอกาสให้เพื่อนๆพาครอบครัวมาพักผ่อนไปด้วยครับ
ปีนี้มาจัดที่ภาคอีสาน เพื่อลำรึกถึงเมื่อปี 2534 ที่พวกเราจบการศึกษาจาก รร.นรต. จากทั้งหมด 312 ชีวิต บรรจุลงปฏิบัติราชการในพื้นที่ภาคอีสานถึง 184 ชีวิต หลายคนเจริญเติบโตในหน้าที่การงาน มีครอบครัวกลายเป็นเขยอีสาน หลายคนก็โยกย้ายกลับไปทำงานในภูมิลำเนาบ้านเกิด
เมื่อเดินเข้ารั้วสามพราน 312 ชีวิตที่มาจากพื้นฐานทางครอบครัว สังคมที่ต่างกัน ถูกหล่อหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวด้วยระเบียบวินัยของ รร.นรต.
แต่เมื่อผ่านไป 26 ปี แต่ละคนก็แยกย้ายไปดำเนินชีวิตอย่างแตกต่างกัน เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย - เราได้เห็นภรรยาเพื่อนที่เสียชีวิตมาร่วมงานรุ่นกับเรา
- เราเห็นเพื่อนที่เปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่น นักบิน นักธุรกิจ เจ้าของรถรับจ้าง
- เราเห็นเพื่อนที่ไปรับราชการที่อื่น ผู้พิพากษา อัยการ DSI
- เพื่อนๆ ที่ยังรับราชการ มีทั้งตำแหน่งสูงสุด เป็นนายพล 1 คน และตำแหน่งรองๆลงมาตามลำดับ บางคนมีชื่อเสียงเป็นมือปราบ มือสืบ มือสอบ ออกสื่ออยู่หลังผู้บริหารระดับสูงก็มี หลายคนก็ทำงานอยู่ในพื้นที่ภูธรห่างไกล ตำรวจตระเวนชายแดน นายตำรวจราชสำนักประจำ ฯลฯ
- เพื่อนบางคนป่วยต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์อย่างใกล้ชิด
กิจกรรมในปีนี้ เนื่องจากยังเป็นช่วงเวลาแห่งการถวายความอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่9 เราจึงปรับรูปแบบกิจกรรม เน้นการบำเพ็ญกุศล ทำ CSR และการแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโอกาสที่พระองค์ได้พระราชทานกระบี่แก่พวกเราเมื่อปี พ.ศ.2534 จึงได้อัญเชิญพระบรมราโชวาทมาแสดงแก่ นรต 44 อีกครั้งหนึ่ง ตามด้วยการจุดเทียนและแปรอักษรเป็นเลข ๙
แม้ว่าจะไม่มีการแสดงบนเวที แต่กลับเป็นโอกาสดีที่ทำให้เพื่อนๆ ได้พูดคุยสอบถามสารทุกข์สุขดิบ หน้าที่การงาน กันเต็มที่ การหยอกล้อ แซวแรงๆ คำพูดแบบภาษาพ่อขุน ไม่ได้ทำให้เราโกรธเคืองกัน แต่เป็นการเติมพลังใจต่อกันและกันมากกว่าครับ เพื่อนที่ยังไม่สมหวัง เพื่อนที่ต้องต่อสู้กับวิกฤติของชีวิต ล้วนได้รับกำลังใจจากเพื่อนที่จะสู้ชีวิตต่อไป นรต.44 ที่เหลืออยู่เกือบ 300 คน กระจายอยู่ทั่วประเทศ แตกต่างจากผู้ที่จบจากมหาวิทยาลัย อย่างไรบ้าง ผมในฐานะเป็น นรต. เอง และไม่ได้เคยเรียนในมหาวิทยาลัย คงยืนยันได้ไม่หนักแน่นพอ แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่เราได้รับการศึกษาเล่าเรียนมา ฝึกฝน ปลูกฝังอุดมการณ์ แบบแผนธรรมเนียมอันดีงามจากรุ่นพี่ๆ ความสัมพันธ์อันแนบแน่นที่พวกเรามีอยู่ น่าจะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์กับการทำหน้าที่เพื่อองค์กรตำรวจและส่งผลลัพธ์ต่อประชาชน นะครับ ขอขอบคุณ ข้อมูลบางส่วนจากโครงการศึกษาตำรวจอาเซียน ได้รับการสนับสนุนจาก สกว.โดยมี พล.ต.ท.ดร.ปิยะ อุทาโย เป็นหัวหน้าโครงการ ภาพจาก LINE # นายตำรวจปกครอง รร.นรต. และคณะทำงานจัดงานรุ่น นรต.44 ขอขอบคุณเพื่อนๆ นรต.44 พล.ต.ต.อาทิชา เปาอินทร์ ประธาน พ.ต.อ.จิรชาติ เจริญศรี ประธานคนใหม่ พ.ต.อ.วรวัฒน์ มะลิ เลขาฯ เจ้าภาพใหญ่ และทีมงานจัดงานปีนี้ทุกท่าน ที่ทุ่มเทเตรียมงานเป็นอย่างดี ทำให้เราได้กลับมาพบปะ พูดคุย ทำกิจกรรมดีๆ สร้างแรงบันดาลใจ ให้กำลังใจซึ่งกันและกันต่อไปครับ
ติดตามบทความดีๆจากเพื่อนโต้ง หน.ตอนคนเก่งของพวกเรา นรต.44 ได้ที่บล็อคข้างล่างนี้นะครับ |